บทความ

 ถุงหอมจากสมุนไพรจีน(中药香囊)

     ถุงหอม โบราณเรียกว่า ถุงหอม (เซียงหนาง香囊)  หรือ กระเป๋าหอม (เซียงเปา香包) ถุงหอมนั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนานมากว่า 2,000 ปี หรือเริ่มมีก่อนราชวงศ์ฉินจะรวมแผ่นดินจีนทั้ง7  ซึ่งครั้งแรกมีที่มาจากชาวบ้านชาวพื้นเมืองในชนบท ด้วยวิถีชีวิตของชาวจีนสมัยก่อนผู้ชายจะออกไปทำไร่ไถนาและใช้แรงงาน ขณะที่ผู้หญิงจะดูแลงานบ้านและทอผ้าไว้ใช้ในบ้านเรือนของตน เพื่อป้องกันไม่ให้ผ้าที่ทอหรือเครื่องนุ่งห่มที่เก็บไว้ถูกแมลงกัดกิน จึงได้นำพืชสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมมาใส่ไว้ในถุงเพื่อเป็นการขับไล่แมลงรบกวนต่างๆ (ที่มาของชื่อถุงหอม คือ ถุงที่มีกลิ่นหอม นั่นเอง) หลังจากนั้นผู้หญิงจีนก็นิยมพกถุงหอมติดตัวกันอยู่เสมอและเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ในสมัยราชวงศ์ถังและซ้ง (พ.ศ.1503-1822) ถุงหอมได้รับความนิยมใช้เป็นเครื่องประดับในสตรีชนชั้นสูง ที่เรามักจะเห็นได้ตามหนังหรือละครเกี่ยวกับราชวัง สตรี หรือสาวงามต่างๆ  โดยสตรีชนชั้นสูงหรือสาวงามมักพกถุงหอมติดตัวเพื่อเพิ่มความหอมสดชื่น น่าหลงไหลให้กับสตรีผู้แขวน จนมีคำกล่าวที่ว่า "ชาวตะวันตกใส่น้ำหอม คนจีนห้อยถุงหอม" สิ่งนี้สะท้อนความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมจีนและตะวันตกได้เป็นอย่างดี นอกจากถุงหอมจะช่วยเพิ่มความหอมสดชื่น ให้กับผู้พกพาแล้ว ชาวจีนยังมีความเชื่อว่า ถุงหอมสามารถช่วยปกป้องคุ้มภัย ช่วยขจัดสิ่งชั่วร้ายต่างๆ รวมทั้งยังสามารถขับไล่ยุง แมลง ไม่ให้มากวนใจ ทั้งยังสามารถช่วยฆ่าเชื้อในอากาศ ช่วยป้องกันการเป็นไข้หวัดหรือโรคระบาดต่างๆ ได้

    จนถึงสมัยราชวงศ์ชิง (พ.ศ.2159-2454) ถุงหอมได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความรัก โดยฝ่ายหญิงจะบรรจงปักทอลวดลายบนถุงให้สวยงามเป็นเอกลักษณ์ (สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นศิลปะวัฒนธรรม ความสวยงามประณีต สีสันของเส้นไหม การทักทอรูปร่างต่างๆ ที่เป็นความโดดเด่นของศิลปะจีน) และมอบให้คนรักในเทศกาลสำคัญต่างๆ จนถึงปัจจุบัน ชาวจีนหรือผู้ที่มีเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ได้ใช้ถุงหอมเป็นของขวัญสื่อถึงความรัก ความห่วงใยให้แก่กัน ในเทศกาลสำคัญ เช่น เทศกาลวันไหว้ขนมบะจ่างโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ (驱邪祈福) ซึ่งมีความหมายว่า “ขจัดสิ่งช่วยร้าย นำพาโชคดี” อีกด้วย

         อะไรอยู่ในถุงหอม  

     คนจีนโบราณนิยมนำสมุนไพรจีนมาใส่ในถุงหอม เนื่องจากสมุนไพรจีนหลายๆตัว มีกลิ่นหอม เช่นสมุนไพรที่เป็นดอกไม้ ใบไม้หรือหญ้า นอกจากนี้สมุนไพรจีนยังมีคุณสมบัติพิเศษในการป้องกันและรักษาโรค สมุนไพรแต่ละตัวก็กลิ่นหอมและมีสรรพคุณทางยาแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

 

  1.  กระตุ้นประสาท ทำให้สมองปลอดโปร่ง
  2. ขับความชื้น สิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคในร่างกาย
  3. ป้องกันเชื้อโรค สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
  4. ไล่แมลง สัตว์กัดต่อย
  5. ช่วยให้นอนหลับสบาย คลายเครียด
  6. ช่วยให้เลือดหมุนเวียนดี บรรเทาอาการปวด
  7. เสริมการทำงานของม้ามและกระเพาะปัสสาวะ ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย

    ดังนั้น ถุงหอม จึงเป็นการนำคุณประโยชน์ด้านกลิ่นของยาจีน มาใช้ในการดูแลสุขภาพและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ช่วยฆ่าเชื้อโรค ลดกลิ่นอับ ขับไล่แมลงก่อกวนใจ ได้เป็นอย่างดี
สมุนไพรที่นิยมนำมาใส่ในถุงหอม
     1.อ้ายเฉ่า (艾草) หรืออ้ายเย่ (艾叶) เป็นพืชในตระกูลดาวเรือง เป็นสมุนไพรที่นิยมใช้ในทางการแพทย์แผนจีน เนื่องจากอ้ายเย่มีฤทธิ์อุ่นช่วยคลายความอุดตัน กำจัดความเย็นและความชื้นออกจากเส้นลมปราณ กลิ่นฉุนของอ้ายเย่สามารถทะลวงเส้นลมปราณเพื่อควบคุมการไหลเวียนของเลือดและลมปราณให้เป็นปกติ และยังขับไล่แมลงได้ นอกจากนี่อ้ายเย่ยังสามารถเสริมบำรุงร่างกายเพื่อเพิ่มภูมิต้านทานโรคและป้องกันโรค เช่น ไข้หวัด 
     2.ติงเซียง (丁香) หรือกานพลู ฤทธิ์อุ่น เป็นสมุนไพรที่เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหาร ปอดและไต สรรพคุณช่วยเพิ่มความอุ่นให้ม้ามและกระเพาะอาหาร แก้อาการสะอึกอาเจียน แก้ท้องเสีย เพิ่มความอบอุ่นให้หัวใจและลดอาการปวดแน่นหน้าอก บำรุงไต เพิ่มพลังหยาง บรรเทาอาการไอ ติงเซียงมีน้ำมันหอมระเหยช่วยทำให้จิตใจสงบผ่อนคลาย บรรเทาอาการไอ และยังช่วยระงับกลิ่นปาก
     3.โร่วกุ้ย(肉桂) หรืออบเชย อบเชยเป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม รสเผ็ด หวาน มักนำมาทำเป็นเครื่องเทศ และทำเป็นยาหอม ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ อบเชยมีฤทธิ์ร้อน เข้าสู่เส้นลมปราณไต ม้าม หัวใจและตับ ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย ลดอาการหนาวสั่นเหน็บชา อาการปวดเอว ปวดเข่า ปวดท้อง ปวดประจำเดือนที่เกิดจากความเย็น บำรุงไตช่วยโรคหอบหืดช่วยให้หายใจได้เต็มปอด
     4.สือชางผู่ (石菖蒲) จัดเป็นยาในกลุ่มยาเปิดทวาร ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณหัวใจและกระเพาะอาหาร สือชางผู่มีกลิ่นหอม ช่วยกระตุ้นประสาท ช่วยเพิ่มความจำความ เพิ่มความสดชื่น ช่วยฟื้นสติ นอกจากนี้ยังกระตุ้นการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร ช่วยขับความชื้น ขับเสมหะ ลดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย
     5.ป้อเหอ (薄荷) หรือ Peppermint มีรสเผ็ด เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด และตับ ช่วยขับลมร้อน ระบายความร้อนในศีรษะและทำให้ตาสว่าง แก้เจ็บคอ กระทุ้งหัด แก้ไข้หวัด ปรับการไหลเวียนชี่ของตับลดอาการแน่นหน้าอก กลิ่นของป้อเหอยังช่วยขับความชื้น ช่วยบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร
     6.ชางจู๋(苍术) หรือโกฐเขมา มีกลิ่นหอม ฤทธิ์เผ็ด อุ่น ช่วยขับเหงื่อ ขับลมเย็น ขับชื้น ลดอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ชางจู๋เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหารและตับ ช่วยบำรุงม้ามและกระเพาะอาหารแก้อาหารไม่ย่อย ท้องอืแน่นท้อง ท้องเสีย
     7.เสี่ยวหุยเซียง(小茴香) หรือผลยี่หร่า สมุนไพรยี่หร่าเป็นเครื่องเทศที่นิยมนำมาประกอบอาหาร และมีสรรพคุณทางการรักษาโรคที่เราคุ้นเคยกันดี ผลยี่หร่ามีกลิ่นหอม รสเผ็ดร้อน เข้าสู่เส้นลมปราณตับ ไต ม้ามและกระเพาะอาหาร น้ำมันหอมระเหยจากยี่หร่าช่วยระงับอาการหดเกร็งของลำไส้ ระงับปวดจากลำไส้แปรปรวน ปวดท้องจุกเสียดแน่นท้อง ช่วยลดอาการปวดประจำเดือนและอาการปวดจากไส้เลื่อน
     8.ปิงเพี่ยน(冰片) หรือพิมเสม จัดเป็นยาในกลุ่มยาเปิดทวาร มีกลิ่นหอมเย็น เข้าสู้เส้นลมปราณหัวใจ ม้ามและปอด มีสรรพคุณขับร้อนและลดอาการปวด น้ำมันการบูรช่วยกระตุ้นความรู้ให้จิตใจโล่งปลอดโปร่ง ผ่อนคลาย ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะและทำให้ร่างกายตื่นตัว ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ เข้าเส้นลมปราณม้ามช่วยบรรเทาอาการท้องอืดจุดเสียดแน่นท้อง ช่วยบำรุงธาตุ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ช่วยขับเหงื่อขับลมชื้น ช่วยบรรเทาอาการหวัด คัอจมูกและแก้ไอ
     9.มู่เซียง(木香)หรือโกฐกระดูก รสเผ็ดขม มีกลิ่นหอม (ชื่อภาษาจีนหมายถึงไม้ที่มีกลิ่นหอม) มู่เซียงออกฤทธิ์ตามเส้นลมปราณม้ามกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ถุงน้ำดีและซานเจียว มีสรรพคุณปรับการไหลเวียนชี่ ลดอาการปวด บำรุงม้ามช่วยย่อยอาหาร สามารถลดอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย ช่วยบำรุงเลือด
     10.เฉินผี(陈皮)หรือเปลือส้ม(เปลือกผลสุกแห้ง) มีรสขม เผ็ด อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณปอดและม้าม เฉินผีช่วยปรับการไหลเวียนของชี่ ขับชื้นขับเสมหะ บำรุงม้าม แก้อาการแน่นหน้าอก ท้องอืด แน่นท้อง และยังสามารถแก้อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลายได้ด้วย
     11.ไป๋จื่อ(白芷) หรือโกฐสอ รสเผ็ด ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่และปอด สรรพคุณขับลมขับชื้นในร่างกาย ช่วยเปิดทวารลดอาการปวด แก้ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล คัดจมูก หายใจไม่ออก ไซนัสอักเสบ ขับหนองลดบวม
     12.ฮั่วเซียง(藿香)หรือพิมเสนต้น มีรสเผ็ด อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด ม้ามและกระเพาะอาหาร น้ำมันหอมระเหยช่วยขับของเสีย ขับความชื้น ปรับสมดุลม้ามและกระเพาะอาหาร ช่วยขับพิษร้อนชื้นทางรูขุมขน สามารถรักษาไขหวัดจากความร้อนชื้น แก้ปวดศีรษะ อาการจุกเสียดแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน
 
     ยาสมุนไพรจีนทั้ง 12 ชนิดนี้ เป็นตัวยาที่นิยมนำมาทำถุงหอมสมุนไพรจีน นอกจากนี้ยังมีตัวยาอื่นๆ อาทิเช่น  ชวงชงฺ(โกฐหัวบัว) (川芎)  เฉินเซียง(ไม้กฤษณา) (沉香)  หยวนจื้อ(远志) เหลียงเจียง(ข่า) (良姜)  เก็กฮวย(菊花) เหอฮวนผี(合欢皮)  จินอิ๋นฮวา(金银花) เพ่ยหลาน(佩兰) ดอกกุหลาบ(玫瑰花)  หรือสมุนไพรจำพวกดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม เป็นต้น
 
     สูตรสำเร็จถุงหอมสมุนไพรจีน
จากที่มาของถุงหอมที่ใช้เพื่อการไล่ยุงไล่แมลง จนในปัจจุบันเราได้นำความพิเศษของกลิ่นและสรรพคุณของยาสมุนไพร มาใช้เป็นสูตรเฉพาะของถุงหอม ที่มีหลากหลายตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคไข้หวัด ช่วยคลายเครียดช่วยให้นอนหลับสบาย หรือแม้แต่การผสมรวมกันของกลิ่นดอกไม้ต่างๆ เพื่อเป็นความหอมเฉพาะตัวหรือเพื่อมอบให้คนรัก วันนี้เราจะมาแนะนำสูตรถุงหอมที่ใช้ทำได้ง่ายๆ ดังนี้ 
     1.ถุงหอมแก้ไข้หวัดตามฤดู ส่วนประกอบ มี ฮั่วเซียง ติงเซียง มู่เซียง ไป๋จื่อ สือชางผู่ ชางจู อย่างละ 3 กรัม
     2.ถุงหอมแก้ง่วงเพิ่มความสดชื่น ส่วนประกอบ มีปิงเพี่ยน 3 กรัม ชางจู๋ 10 กรัม ไป๋จื่อ 5 กรัม ชวงชงฺ 5 กรัม 
     3.ถุงหอมช่วยผ่อนคลายช่วยการนอนหลับ ประกอบด้วย หยวนจื้อ สือชางผู่ เพ่ยหลาน เหอฮวนผี โร่วกุ้ย ปิงเพี่ยน(ปริมาณตามความเหมาะสม)
     4.ถุงหอมไล่ยุง ไล่แมลง ประกอบด้วย ป้อเหอหน่าว(menthol) จางหน่าว(การบูร) ปิงเพี่ยน(พิมเสน) สือชางผู่ ฮั่วเซียง อ้ายเย่(ปริมาณตามความเหมาะสม)
     5.ถุงหอมลดภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจในเด็ก ประกอบด้วย ซินอี๋ ไป๋จื่อ ปิงเพี่ยน ฮั่วเซียง เพ่ยหลาน โป้เหอ จินอิ๋นฮวา เฉินผี อย่างละ 30 กรัม (หรือปริมาณตามความเหมาะสม)
     6.ถุงหอมเทศกาลไหว้บะจ่าง ประกอบด้วย ป้อเหอหน่าว(menthol) 1 กรัม ปิงเพี่ยน(พิมเสน) 1 กรัม จางหน่าว(การบูร) 1 กรัม อ้ายเย่ 10 กรัม สือชางผู่ 6 กรัม ฮั่วเซียง 4 กรัม
 
     วิธีทำถุงหอม
วิธีทำถุงหอมนั้นง่ายแสนง่าย อุปกรณ์ที่ใช้ก็หาได้ใกล้ตัว แค่มีตัวยาสมุนไพรหรือสูตรที่ชอบ อุปกรณ์จำพวกถ้วยหรือแก้วที่ใช้เพื่อผสมยา ถ้าใครชอบความเป๊ะก็อย่าลืมหาเครื่องชั่งน้ำหนักมาด้วยนะคะ นอกจากนี้ยังมีถุงชา(ถุงสีขาวบาง) และถุงหอม(ใครที่ชอบความสวยงามไม่ซ้ำใครสามารถประดิษฐ์ถุงใส่ลวดลายเองได้ตามความชอบเลยนะ) 
     1. เตรียมสมุนไพร โดยนำสมุนไพรทั้งหมด โดยเฉพาะสมุนไพรจำพวกกิ่งหรือรากไม้ไปบดหรือทุบเพื่อให้กลิ่นระเหยออกมาได้ง่ายขึ้น 
     2. นำสมุนไพรทั้งหมดมาคลุกเคล้าเข้าด้วยกันแล้วนำไปใส่ในถุงชา จากนั้นนำถุงชาไปใส่ในถุงหอมที่เตรียมไว้เป็นอันเสร็จงานจ้า
 
     เรียบร้อยไม่ยากเลยใช่มั้ยคะ นอกจากสูตรสำเร็จที่กล่าวข้างต้น เรายังสามารถทำสูตรเฉพาะของตัวเองได้ ชอบกลิ่นไหนใส่กลิ่นนั้นได้เลย เสร็จแล้วจะไปแขวนไว้ในตู้เสื้อผ้า ในห้องนอน ข้างหมอน หรือพกติดตัวก็ได้นะคะ นอกจากสวยงามแล้ว ยังมีประโยชน์ในการป้องกันดูแลสุขภาพด้วยนะคะ ใครที่ทำแล้วหรือมีสูตรใหม่ๆน่าสนใจ มารีวิวให้ดูกันด้วยนะคะ