อารมณ์...กับการเกิดโรค
อ.อรภา ศิลมัฐ
ศาสตร์การแพทย์แผนจีนให้ความสำคัญกับการรักษาโรคแบบองค์รวม มีทฤษฎีพื้นฐานที่กล่าวว่าร่างกายของเราจะแข็งแรงได้นั้นจะต้องอาศัย “ความสมดุล” ระหว่างร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ความรู้สึกซึ่งสอดคล้องกับหลักของพระพุทธศาสนาที่สอนให้เรามีสติ สมาธิ อันนำมาซึ่งความสงบในจิตใจซึ่งจะส่งผลให้สารคัดหลั่งต่างๆของร่างกายถูกหลั่งออกมาอย่างเป็นปกติ มีผลให้ร่างกายของเราแข็งแรงอยู่เสมอ แต่เมื่อใดก็ตามที่เราไม่สามารถควบคุมสติและความรู้สึกนึกคิดของตนเองได้ ก็จะทำให้เราเกิด “อารมณ์” ต่างๆขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของเราได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
คำว่า “อารมณ์ดี” หลายๆคนคงจะให้คำนิยามว่า หมายถึง อารมณ์ที่เฮฮา สนุกสนาน คิดบวก แต่ในที่นี้อยากให้ทุกคนเข้าใจไปในทางเดียวกันว่า “อารมณ์ดี” หมายถึง อารมณ์ที่เป็นปกติ อารมณ์ที่สมดุล ไม่ทำให้จิตใจรู้สึกจัดจ้านหรือเฉื่อยชาจนเกินขอบเขต และต้องเป็นอารมณ์ที่ไม่ให้โทษแก่ร่างกายของตนเองและผู้อื่น หากเรามีอารมณ์ปรุงแต่งที่มากเกินไปจนสุดโต่งก็จะทำให้เกิดโทษแก่ร่างกายได้ ศาสตร์การแพทย์แผนจีนได้กล่าวถึง “อารมณ์” ต่างๆที่ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายไว้อย่างน่าสนใจ ได้แก่
1. อารมณ์โกรธ
ความโกรธทำให้ลมปราณในร่างกายย้อนขึ้น เราจะสังเกตได้ว่าเวลาที่เราโกรธนั้น
มักจะมีอาการหน้าแดง ตาแดง เวียนศีรษะ ตาลาย บางคนหูอื้อ (หรือที่เราเรียกว่า โกรธจนลมออกหู) บางคนโกรธมากๆจะมีเสียงวิ้งในหู ความดันสูงขึ้น หรือสลบไปเลยแบบในละครก็มี ศาสตร์การแพทย์แผนจีนอธิบายว่าที่เป็นเช่นนี้ เพราะเมื่อเราโกรธจะกระทบต่อการทำงานของตับ ปกติตับ(ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน)จะทำหน้าที่ระบายลมปราณลงด้านล่างของร่างกาย ช่วยให้เลือดไหลและสารน้ำต่างๆในร่างกายไหลเวียนได้อย่างเป็นปกติ ดังนั้นหากเรามีอารมณ์โกรธ ตับจะเป็นอวัยวะที่สูญเสียหน้าที่การทำงานไป ร่างกายของเราก็จะเจ็บป่วยนั่นเอง
2. อารมณ์ดีใจ
ดีใจ เหมือนจะเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเราดีใจมากเกินไป ร่างกายของเราจะมีอาการต่างๆ เช่น
กระโดดโลดเต้น ปรบมือรัว หรือบางคนอาจจะพูดจาไม่เป็นภาษา การตัดสินใจช้า ที่เป็นเช่นนี้เกิดจากอารมณ์ดีใจที่มากเกินไปทำให้ลมปราณไหลเวียนช้า ส่งผลกระทบถึงการทำงานของหัวใจ หัวใจ(ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน)จะทำหน้าที่ดูแลเลือดและเส้นเลือดให้ทำหน้าที่ของระบบไหลเวียนเลือดได้อย่างเป็นปกติ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ดูแลความรู้สึกนึกคิดและความรู้ตัวอีกด้วย ฉะนั้นหากเราดีใจมากเกินไปแล้วตกดึกนอนไม่หลับ หรือนอนหลับแต่ฝันเยอะ นั่นก็เป็นสัญญานเตือนให้เราต้องหันมาบำรุงหัวใจกันแล้วนั่นเอง
3. อารมณ์ครุ่นคิด (คิดมาก)
เคยสังเกตกันไหมว่า ทุกครั้งที่เราหมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเวลานานจะทำให้เรารู้สึกไม่อยากอาหาร ท้องอืด ผายลมบ่อยๆ อ่อนเพลีย หรือในบางคนแสดงออกในแบบตรงกันข้าม นั่นคือกินเก่งกินจุ หิวตลอดเวลา ท้องเสียหรือถ่ายเหลว ใต้ตาคล้ำ ลิ้นบวมข้างลิ้นมีรอยฟัน เป็นต้น ศาสตร์การแพทย์แผนจีนอธิบายไว้ว่า อารมณ์ครุ่นคิดทำให้ลมปราณติดขัด ไม่ไหลเวียน ส่งผลถึงการทำงานของม้าม ม้าม(ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน) หมายถึง ระบบย่อยอาหารในทางวิทยาศาสตร์ มีหน้าที่ย่อยและดูดซึมอาหาร ดังนั้นหากเราครุ่นคิดกังวล ระบบย่อยอาหารจะเสียสมดุลและแสดงอาการออกมาทางน้อยเกินไปหรือมากเกินไปนั่นเอง
4. อารมณ์เสียใจ
เราอาจจะเคยเห็นในละครกันเป็นประจำ เมื่อนางเอกหรือพระเอกเสียใจมากๆมักจะล้มป่วย ไอค่อกๆแค่กๆ หรือแน่นหน้าอกจนตรอมใจตายไป ในเรื่องจริงเราก็อาจจะพบสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้ได้ ในผู้ที่เสียใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาเป็นระยะเวลานาน จะทำให้มีอาการหายใจสั้นๆ ทางเดินหายใจติดขัด ไอไม่มีเสมหะ หอบ แน่นหน้าอก อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น เนื่องจากอารมณ์เสียใจจะส่งผลต่อปอด ปอด(ทางการแพทย์แผนจีน)ทำหน้าที่ดูแลลมปราณที่ได้จากการหายใจให้เดินทางไปสู่ส่วนต่างๆในทิศทางที่ถูกต้อง การเสียใจนานๆจะทำให้ลมปราณเดินช้าลง ติดขัด นานๆเข้าจะกระทบพลังยินหรือสารน้ำในร่างกาย เกิดความ ร้อนขึ้นในร่างกายได้
5. อารมณ์กลัว
ความกลัวทำให้ลมปราณเดินสู่ด้านล่างของร่างกาย ส่งผลให้ผู้ที่หวาดกลัวมักจะมีอาการกลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่อยู่ สติกระเจิดกระเจิง นานๆเข้าอาจทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ ที่เป็นเช่นนี้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนอธิบายว่าอารมณ์กลัวจะมุ่งทำร้ายอวัยวะไตซึ่งทำหน้าที่ควบคุมสารน้ำ การขับถ่าย และความสมรรถภาพทางเพศ จึงเกิดอาการต่างๆเหล่านี้ขึ้นได้เราได้เห็นผลต่อร่างกายที่เกิดจากการมีอารมณ์ที่ไม่สมดุลกันไปแล้ว ฉบับหน้ามาติดตามการรักษาโรคหรืออาการผิดปกติต่างๆเหล่านี้ด้วยอารมณ์กันต่อค่ะ
ขอบคุณภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต