บทความ

 ควรดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อ “ชี่พร่อง” Byพจ.อรภา ศิลมัฐ

ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเป็นศาสตร์การแพทย์แผนโบราณที่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาร่างกายให้“สมดุล”อยู่เสมอ เพราะเชื่อว่าหากร่างกายสมดุลจะไม่เกิดอาการเจ็บป่วย ดังนั้นจึงได้มีการจำแนกลักษณะพื้นฐานของร่างกายออกเป็น 8 แบบเพื่อให้ง่ายต่อการดูแลสุขภาพ ทั้งในด้านอาหารการกิน การทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน ตลอดจนจิตใจ อารมณ์ และการปฏิสังคมกับผู้อื่นด้วย  

พื้นฐานสุขภาพทั้ง 8 แบบ ได้แก่ ร่างกายสมดุล ร่างกายแบบชี่พร่อง ร่างกายแบบหยางพร่อง ร่างกายแบบอินพร่อง ร่างกายแบบชื้นมีเสมหะ ร่างกายแบบร้อนชื้น ร่างกายแบบเลือดคั่ง และร่างกายแบบชี่อัดอั้น  

ผู้ที่มีร่างกายสมดุลนั้นมักจะมีรูปร่างสมส่วน ใบหน้าแจ่มใส สีหน้าแดงระเรื่อ ผิวชุ่มชื่น ผมดำสลวย ตาเป็นประกายสดใส ริมฝีปากชุ่มชื่นอมชมพู กล้ามเนื้อแรงดี เล็บแข็งแรง ไม่ป่วยง่าย จิตใจสงบ มั่นคง เข้าสังคมได้ง่าย มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น แต่เมื่อไรก็ตามที่ร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันลดน้อยลง จิตใจอ่อนไหวง่าย อารมณ์ปรวนแปร นั่นเป็นสัญญาณที่แสดงออกให้เรารับรู้ว่าร่างกายของเรากำลัง “เสียสมดุล” ไปแล้วนั่นเอง 

หลายๆคนอาจเคยได้ยินคำว่า “ชี่” มาจากหนังจีนกำลังภายในหรือจากกิจกรรมของผู้สูงวัยอย่างชี่กงมาแล้ว ในคัมภีร์หวงตี้เน่ยจิงกล่าวถึง“ชี่”ไว้ว่า “ชี่” หรือ “ลมปราณ” คือส่วนประกอบพื้นฐานที่ประกอบเป็นร่างกายมนุษย์  และเป็นพลังงานพื้นฐานในการขับเคลื่อนกลไกการทำงานต่างๆของร่างกาย ดังนั้นไม่ว่าเราจะหายใจ ย่อยอาหาร ออกแรงเดิน วิ่ง หรือทำงาน ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยชี่ทั้งสิ้น ชี่ในร่างกายนั้นเกิดขึ้นจากการหายใจเอาชี่(อากาศ)จากธรรมชาติเข้าไป ผสมกับชี่ที่เกิดจากการย่อยอาหาร หล่อหลอมรวมกันเป็นชี่หรือลมปราณที่ใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งหากเราใช้ร่างกายหนักเกินไป พักผ่อนหรือรับประทานอาหารน้อยจนเกินไปจะทำให้ชี่นั้นลดน้อยลง เรียกว่า “ชี่พร่อง” ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆตามมาได้ 

ผู้ที่มีพื้นฐานร่างกายแบบชี่พร่องมักจะมีรูปร่างค่อนข้างท้วมหรือผอมแห้ง กล้ามเนื้อนิ่มเหลวไม่แข็งแรง เสียงเบา ไม่ค่อยมีแรงพูด ท้องผูก ลิ้นซีดใหญ่ ขอบลิ้นมีรอยฟัน ขี้กลัว ตกใจง่าย ไม่ร่าเริง ป่วยง่าย ร่างกายไม่แข็งแรง ไม่สามารถปรับตัวต่อช่วงเปลี่ยนฤดูกาลได้ เหนื่อยง่าย อวัยวะภายในหย่อน  

อาหารที่เหมาะกับผู้ที่มีร่างกายแบบชี่พร่อง ได้แก่ อาหารตระกูลข้าว เช่น ข้าวเหนียว ข้าวซ้อมมือ ข้าว 

โอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ , ผักและผลไม้ เช่น ซานเย่า(ห่วยซัว) พุทราจีน หัวไชเท้า เห็ดหอม น้ำผึ้ง , เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อห่าน เนื้อวัว เป็นต้น ผู้ที่ชี่พร่องไม่ควรออกกำลังกายที่ใช้แรงหรือทำให้เหงื่อออกมาก ควรพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ หมั่นลูบท้องรอบสะดือทิศตามเข็มนาฬิกาเพื่อกระตุ้นการขับถ่าย การฝังเข็มและการกินยาจีนก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้ร่างกายกลับเข้าสู่สมดุลได้เร็วยิ่งขึ้น  

คำถามทดสอบ (ไม่เคย=1  น้อยมาก=2  ปานกลาง=3   บ่อยครั้ง=4  เป็นประจำ=5) 

คุณมักเหนื่อย อ่อนเพลียง่ายหรือไม่? 

มีอาการหายใจไม่ทั่วท้อง (หายใจไม่เต็มปอด)หรือไม่? 

คุณมักมีอาการใจสั่นหรือไม่? 

คุณมักมีอาการเวียนศีรษะหรือเวียนศีรษะตาลายเวลาลุกยืนหรือไม่? 

คุณมักเป็นหวัดง่ายหรือไม่? 

คุณมักชอบอยู่เงียบๆ ขี้เกียจพูดคุยหรือไม่? 

เวลาพูดมักจะมีน้ำเสียงอ่อนแรงหรือไม่? 

เมื่อออกกำลังกายมักเหงื่อออกง่ายใช่หรือไม่ 

0-16 คะแนน หมายถึง ไม่ได้มีร่างกายแบบชี่พร่อง  

17-24 คะแนน หมายถึง มีแนวโน้มจะมีร่างกายแบบชี่พร่อง

25 คะแนนขึ้นไป หมายถึง มีร่างกายแบบชี่พร่อง 

 

 

ภาพประกอบ : http://health.sina.com.cn