บทความ

 “กิน”...อย่างไรให้แข็งแรงในฤดูฝน โดย พจ.อรภา ศิลมัฐ

 

 

     ฝนที่โปรยปรายในช่วงนี้น่าจะทำให้หลายๆคนเกิดอาการกระสับกระส่ายกันพอสมควร เพราะไม่ว่าจะออกไปไหนทำอะไรก็ต้องคอยกังวลว่าจะเปียกฝน ตากผ้าก็กลัวว่าจะชื้น บางบ้านมีเจ้าเชื้อราดำๆจุดน้อยๆมาเยือนตามซอกมุมผนังอีกต่างหาก แต่หากมองในแง่ดีแล้วฤดูฝนก็ทำให้เราชุ่มฉ่ำเย็นสบายได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่ใครจะรู้ว่า “ความชื้น” ในฤดูฝนมักจะส่งผลต่อสุขภาพของเราด้วย ศาสตร์การแพทย์แผนจีนมีตำราโบราณหลายเล่มกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า ความชื้นจากฝนทำให้ร่างกายของผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงเกิดโรคได้ง่าย หรืออาจจะทำให้ผู้ที่เป็นโรคที่วินิจฉัยแล้วว่ามีภาวะชื้น(ตามหลักการของการแพทย์แผนจีน)มีอาการรุนแรงขึ้นได้อีกด้วย

ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเชื่อว่า เมื่อความชื้นจากสภาวะแวดล้อมภายนอกเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากหรือเข้ามาในช่วงที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ จะสะสมอยู่ภายในทำให้ร่างกายเกิดความเย็น หากร่างกายไม่สามารถปรับตัวคืนสู่สมดุลและกำจัดความชื้นเหล่านี้ออกไปได้ ความชื้นเหล่านี้จะค่อยๆเปลี่ยนแปลงสภาพไปเป็นน้ำ (มักจะอยู่ในรูปของน้ำส่วนเกินตามอวัยวะต่างๆ) หากปล่อยไว้นานๆเข้าน้ำเหล่านี้จะถูกพลังงานความร้อนในร่างกายเผาให้ค่อยๆเหือดแห้งลงจนมีลักษณะเหนียวข้น เรียกว่า “เสมหะ” เกาะติดอยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น เสมหะในลำคอ น้ำในไขข้อที่เหนียวข้น ขี้ตา หรือในปัจจุบันก็มีผู้สันนิษฐานว่าเสมหะเหล่านี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้เรียกไขมันในเส้นเลือดก็เป็นได้ 

ผู้ที่มีความชื้น/เสมหะในร่างกายค่อนข้างมาก มักจะมีรูปร่างอ้วน มีไขมันสะสมที่หน้าท้อง(มีพุง) หน้ามัน เหงื่อออกง่าย เหงื่อเหนียว ตาโปน เสมหะมาก บางคนมีลักษณะแขนขาใบหน้าบวมน้ำ ชอบกินอาหารประเภทไขมันสูง อาหารทอด อาหารหวาน ลิ้นอ้วน มีฝ้าหนา มีลักษณะนิสัยอบอุ่น ช่างอดทน ขี้เกียจ รู้สึกตัวหนักไม่กระปรี้กระเปร่า ง่วงเหงาหาวนอน ไม่ชอบฤดูฝนหรือความชื้น และมักไม่ชอบดื่มน้ำ มักมีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวาน ไขมันสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ เป็นต้น

อาหารที่เหมาะกับผู้ที่มีลักษณะร่างกายแบบชื้น มีเสมหะ ได้แก่ อาหารที่มีรสจืด ควรแบ่งรับประทานวันละ 5-6 มื้อ ไม่รับประทานอาหารมัน อาหารทอด หรืออาหารที่มีรสหวานจัด ควรรับประทานผักผลไม้มากๆ เช่น หัวไชเท้า ลูกเดือย ฟัก ถั่วแดงเม็ดเล็ก ฟักทอง คื่นไช่ ต้นหอม ซานเย่า(ห่วยซัว) เป็นต้น ซึ่ง “ลูกเดือย” นับว่าเป็นสุดยอดอาหารขจัดความชื้นและเสมหะในร่างกาย มีวิธีกินที่หลากหลาย ได้แก่ นำลูกเดือยมาแช่น้ำ 4-6 ชั่วโมงแล้วนำมาตุ๋นเป็นโจ๊ก ข้าวต้มหรือหุงผสมข้าวเป็นข้าวสวยลูกเดือยก็ได้ บางคนใช้โรยบนสลัดผัก หรือนำมาตุ๋นใส่ฟักและเนื้อไก่ได้ไก่ตุ๋นฟักลูกเดือย หากชอบกินของหวานอาจนำมาทำเป็นเต้าทึงก็อร่อยไม่แพ้กัน แล้วก็...อย่าลืมเคี้ยวอาหารให้ละเอียดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการย่อยอาหารที่ใช้ขจัดความชื้นในร่างกายด้วยนะคะ

คำถามทดสอบ

(ไม่เคย=1  น้อยมาก=2  ปานกลาง=3   บ่อยครั้ง=4  เป็นประจำ=5) ศึกษาพฤติกรรมในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

คุณรู้สึกแน่นหน้าอกหรือท้องอืดหรือไม่

คุณรู้สึกร่างกายไม่ผ่อนคลายหรือไม่สดชื่นหรือไม่

หน้าท้องของคุณมีไขมันส่วนเกินเยอะหรือไม่

บริเวณหน้าผากของคุณมีการผลิตน้ำมันออกมามากหรือไม่

หนังตาบนของคุณบวมกว่าคนอื่น (ยังคงบวมอยู่เล็กน้อย) หรือไม่

คุณมีความรู้สึกเหนียวๆ ในปากหรือไม่

คุณมีเสมหะเยอะเป็นประจำ โดยเฉพาะบริเวณลำคอรู้สึกมีเสมหะอุดกั้นหรือไม่

คุณรู้สึกว่าฝ้าบนลิ้นหนาหรือเหนียวหรือไม่

0-16     คะแนน หมายถึง ไม่ได้มีร่างกายแบบชื้น มีเสมหะ

17-24   คะแนน หมายถึง มีแนวโน้มจะมีร่างกายแบบชื้น มีเสมหะ

25      คะแนนขึ้นไป หมายถึง มีร่างกายแบบชื้น มีเสมหะ

(แบบทดสอบการจำแนกภาวะสุขภาพตามมาตรฐานสมาคมการแพทย์แผนจีนแห่งประเทศจีน)