บทความ

 “อินพร่อง”...ภาวะสุขภาพที่ต้องระวัง Byพจ.อรภา ศิลมัฐ

 

          ปีนี้ช่างเป็นฤดูร้อนที่พระอาทิตย์ขยันทำงานกันเสียจริง ร้อนจนแทบคลั่ง ร้อนจนทะเลเดือด อากาศร้อนๆแบบนี้หลายคนคงจะหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวนกันไปบ้าง บางคนมีอาการ “ร้อนใน” ถ่ายไม่ออก ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อนก็อาจจะเป็นได้ หากมองในมุมของศาสตร์การแพทย์แผนจีนแล้วอาการต่างๆเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย หากแต่เป็นภาวะของร่างกายที่ “ไม่สมดุล” ความร้อนความเย็นในร่างกายสลับสับเปลี่ยนกันมากน้อยตามสภาพอากาศรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงไป หากเข้าสู่ฤดูใหม่ร่างกายก็จะปรับตัวได้เองในที่สุด แต่ถ้าหากมีอาการข้างต้นมาเป็นระยะเวลานานหลายปี และจะเป็นมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน นั่นแสดงว่าคุณกำลังมีภาวะสุขภาพแบบ “อินพร่อง” นั่นเอง

“อิน” หรือ “หยิน” ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน หมายถึง พลังงานความเย็น ความมืด ความสงบเยือกเย็น เวลากลางคืน ฯลฯ หากกล่าวถึง “อิน” ในร่างกาย ส่วนใหญ่มักจะคิดถึง “สารน้ำ” หรือ “เลือด” ดังนั้นหากอินพร่องหรือสารน้ำ(หรือเลือด)ในร่างกายลดน้อยลงไป จะทำให้ร่างกายแสดงอาการของความร้อนออกมาได้ ในฤดูร้อนความร้อนจากสภาพแวดล้อมจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำออกมาในรูปของเหงื่อหรือปัสสาวะ ทำให้สารน้ำในร่างกายลดน้อยลง หากไม่ชอบดื่มน้ำก็จะทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ เมื่อเป็นติดต่อกันบ่อยๆนานๆเข้าก็จะทำให้ “อินพร่อง” ได้ในที่สุด

ผู้ที่มีร่างกายแบบ “อินพร่อง” มักจะมีรูปร่างค่อนข้างผอม ผิวแห้งลอกเป็นขุย สีผิวคล้ำไม่สดใส ผมแห้งชี้ฟู ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน มักมีเหงื่อออกตามตัวขณะนอนหลับ หน้าแดง รู้สึกตัวร้อนแต่ไม่มีไข้ ปาก คอ ตาแห้ง ท้องผูก หากเป็นมากอาจมีแผลในปาก ไอแห้งๆ หายใจหอบ ลิ้นแดง แห้ง มีนิสัยชอบแสดงออก ใจร้อน หงุดหงิดง่าย ไม่ชอบฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง ผู้ที่มีร่างกายแบบนี้มักจะมีแนวโน้มเป็นโรคความดันโลหิตสูง ไทรอยด์เป็นพิษ หงุดหงิดง่ายอารมณ์แปรปรวนก่อนมีประจำเดือน วัณโรคปอด เป็นต้นได้ง่ายกว่าผู้ที่มีภาวะสุขภาพแบบอื่นๆ

อาหารที่เหมาะกับผู้ที่มีลักษณะร่างกายแบบอินพร่อง ได้แก่ ผักผลไม้บำรุงอิน เช่น รากบัว เก๋ากี้ เห็ดหู

หนูขาว เห็ดเข็มทอง สาลี่สด น้ำเก๊กฮวย หากท้องผูกแนะนำให้รับประทานมะรุม ว่านหางจระเข้ ขี้เหล็ก มะระ , อาหารบำรุงอิน เช่น รังนก ปลามีเกล็ด เนื้อเป็ด ปลิงทะเล นอกจากนี้ไม่ควรออกกำลังกายที่ใช้พลังงานสูงกลางแดดจัด ดื่มน้ำให้เพียงพอ(วันละ 1-2 ลิตร) ฝึกจิตใจให้มีสมาธิ สงบ ก็จะช่วยให้ร่างกายกลับมาสมดุลได้ดังเดิม

คำถามทดสอบ (ไม่เคย=1  น้อยมาก=2  ปานกลาง=3   บ่อยครั้ง=4  เป็นประจำ=5)

คุณมีอาการฝ่ามือฝ่าเท้าร้อนหรือไม่?

คุณมีอาการตัวร้อนหรือใบหน้าร้อนหรือไม่?

มีอาการผิวแห้งหรือปากแห้งหรือไม่?

คุณมี ริมฝีปากที่แดงผิดปกติหรือไม่?

คุณมักมีอาการท้องผูกหรือถ่ายอุจจาระแข็งและแห้งหรือไม่?

คุณมักแก้มแดงหรือค่อนข้างแดงหรือไม่?

คุณมีอาการตาแห้งหรือไม่?

เมื่อออกแรงนิดหน่อยมักเหงื่อออกง่ายหรือไม่?

0-16     คะแนน หมายถึง ไม่ได้มีร่างกายแบบอินพร่อง

17-24   คะแนน หมายถึง มีแนวโน้มจะมีร่างกายแบบอินพร่อง

25        คะแนนขึ้นไป หมายถึง มีร่างกายแบบอินพร่อง

 

(แบบทดสอบการจำแนกภาวะสุขภาพตามมาตรฐานสมาคมการแพทย์แผนจีนแห่งประเทศจีน)