หลักการและเหตุผล

      ในการปฏิรูปสุขภาพแห่งชาติ    ได้กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ดูแล     ส่งเสริมสุขภาพให้แก่ประชาชน  โดยการสนับสนุนให้ประชาชนได้ใช้ศักยภาพของตนเองในการสร้างเสริมสุขภาพ  ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ  ให้ประชาชนได้ทราบแนวทางการดูแลสุขภาพทั้งทางการแพทย์แผนตะวันตก  การแพทย์แผนไทย  การแพทย์พื้นบ้านไทย  และการแพทย์ทางเลือกต่างๆ  ตลอดจนมีการเปลี่ยนโครงสร้าง  บทบาทและภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข  เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตามพระราชบัญญัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูประบบราชการ    ส่งเสริมให้มีการใช้ศาสตร์การดูแลสุขภาพต่าง ๆ ที่มีความปลอดภัย  มีประสิทธิภาพ  ประหยัดและสอดคล้องกับวิถีชีวิต เศรษฐกิจและสังคมไทย  อาทิเช่น    การแพทย์แผนไทย   การแพทย์แผนไทยประยุกต์   การแพทย์แผนจีนและอื่น ๆ   ผสมผสานกันในการดูแลสุขภาพศาสตร์การแพทย์แผนจีนมีประวัติการพัฒนาและการสืบทอดกันมากว่าห้าพันปี ในห้าสิบปีที่ผ่านมาได้รับการประยุกต์ผสมผสานกับการแพทย์แผนตะวันตก และกลายเป็นกระแสหลักในการดูแลสุขภาพประชาชนในประเทศจีน  และยังเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับจากประเทศที่พัฒนาแล้ว  อาทิ สหรัฐอเมริกา  อังกฤษ  เยอรมนี  ออสเตรเลีย   ญี่ปุ่น  เกาหลีและสิงคโปร์  สำหรับประเทศไทยมีการนำศาสตร์การแพทย์แผนจีนเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย โดยมีหลักฐานที่ปรากฏพบว่ามีร้านยาจีนจำนวนมากในเขตกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ๆ  ทั่วประเทศไทย  รวมถึงได้มีการก่อตั้งสมาคมแพทย์แผนจีนในประเทศไทยเมื่อกว่า 80 ปีที่ผ่านมา

     เมื่อประเทศไทยมีประกาศใช้พระราชบัญญัติการแพทย์  พ.ศ.2466  แพทย์แผนจีนจำนวนหนึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาแผนโบราณ  ต่อมาได้มีการประกาศพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะพ.ศ.2479  ซึ่งได้กำหนดการประกอบโรคศิลปะในสาขาเวชกรรมคือ การตรวจโรค การป้องกันโรค การบำบัดโรคมนุษย์ด้วยกรรมวิธีของการประกอบโรคศิลปะตามแผนนั้น ๆ   โดยมีคณะอนุกรรมการวิชาชีพแผนโบราณเป็นผู้กำกับดูแล  ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ  ต่อมา พ.ศ.2542  ได้มีประกาศพระราชบัญญัติประกอบโรคศิลปะ  ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อสาขาการแพทย์แผนโบราณเป็นการแพทย์แผนไทย  ดังนั้นกลุ่มแพทย์จีนที่เคยได้รับอนุญาตประกอบโรคศิลปะภายใต้สาขาการแพทย์แผนโบราณ  ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือการแพทย์ไทย-จีน กรมการแพทย์ สถานพยาบาลหัวเฉียวแผนโบราณ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้เสนอคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะพิจารณาศาสตร์การแพทย์แผนจีน  ซึ่งคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะได้เห็นชอบให้ใช้มาตรา 31  แห่งพระราชบัญญัติประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542  โดยใช้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนตามมาตราดังกล่าว  เมื่อ พ.ศ.2543  การดำเนินการสอบประเมินจรรยาบรรณและความรู้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนในระหว่างปี2543-2545  ได้มีบุคคลผ่านการประเมินและได้รับหนังสือรับรองการประกอบโรคศิลปะด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน จำนวน 175 คน

     เมื่อศาสตร์การแพทย์แผนจีนได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพสำหรับประชาชนไทย  มีการคาดการณ์ว่าระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุขจะมีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนในโรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชนอย่างน้อย  4  คนต่อแห่ง  ส่วนในศูนย์บริการปฐมภูมิ(Primary Care Unit-PCU)  จะมีความต้องการบุคลากรด้านการแพทย์ที่ได้รับการอบรมต่อยอดให้มีความรู้ความสามารถด้านการแพทย์แผนจีน  อาทิเช่น การนวด  การกดจุด  การฝังเข็ม  การใช้สมุนไพรแบบประยุกต์ฯลฯ  ซึ่งรวมบุคคล 2 กลุ่มจะมีมากกว่าหนึ่งหมื่นคน  เมื่อประเมินความต้องการบุคลากรดังกล่าวแล้วเห็นว่าหากต้องส่งไปเรียนหรือไปรับการอบรมในต่างประเทศจะเป็นการสูญเสียค่าใช้จ่ายอย่างมาก  จึงเห็นควรให้มีการผลิตบุคลากรดังกล่าวขึ้นภายในประเทศไทย   

     มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่เปิดดำเนินการโดยมีรากฐานจากโรงเรียนผดุงครรภ์อนามัยวิทยาลัยหัวเฉียวและพัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จึงเป็นสถาบันที่มีความพร้อมของบุคลากรทั้งในสาขาวิชาภาษาจีน  และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ  ตลอดจนทรัพยากรสารสนเทศ  และอาคารสถานที่ต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการจัดการศึกษา  ประกอบกับความต้องการผลิตบุคลากรทางแพทย์แผนจีน   ดังนั้นจึงเห็นควรจัดการศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนจีนขึ้นในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยเพื่อผลิตและฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์แผนจีนสนองตอบความต้องการของสังคม   และมุ่งพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนแพทย์แผนจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป